ปริทัศน์หนังสือ พระยาอนุมานราชธน : ปราชญ์สามัญชนผู้นิรมิตความเป็นไทย ของสายชล สัตยานุรักษ์

หนังสือเล่มนี้เป็นผลการวิจัยในชุดโครงการวิจัยเรื่อง ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ. 2435-2535) ของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติหรือ สกว. ในปี 2550 เมื่อสำนักพิมพ์มติชนได้นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนั้น ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 บทด้วยกัน ประกอบด้วย บทแรก ว่าด้วยภูมิหลังและพื้นฐานความคิดของพระยาอนุมานราชธน บทที่สอง ว่าด้วยการตอบสนองนโยบายทางการเมืองและวัฒนธรรมของของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในทศวรรษ 2480 บทที่สาม ว่าด้วยการนิยาม “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ในทศวรรษ 2490 และบทที่สุดท้ายว่าด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมไทยของพระยาอนุมานราชธนในช่วงทศวรรษ 2500-2510 หากพิจารณาเนื้อหาโดยภาพรวมก็จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนกำลังศึกษาความคิดความอ่านเกี่ยวกับพระยาอนุมานราชธนซึ่งคนไทยโดยทั่วไปจะรู้จักในนาม เสฐียรโกเศศ ว่ามีความสัมพันธ์หรือส่งผลต่อบริบททางประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาที่ศึกษาอย่างไรบ้าง เนื่องจากพระยาอนุมานราชธนถือเป็น “ปัญญาชนสยาม” ผู้หนึ่งที่ทรงอิทธิพลทางด้านความรู้เกี่ยวกับไทยศึกษาตั้งแต่ยุคสร้างชาติในสมัยจอมพล ป. จนถึงยุคสงครามเย็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการมองผ่านกรอบประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา (intellectual history) นั่นเอง