คลังสารสนเทศดิจิทัลของหน่วยงานต้นแบบที่ดำเนินงานตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีล

โครงการคัดเลือกมาตรฐานสากลในการจัดการข้อมูลผลการวิจัยในคลังสารสนเทศดิจิทัล: ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานการจัดการข้อมูลผลงานวิจัยในคลังสารสนเทศและข้อกำหนดที่เป็นองค์ประกอบเพิ่มเสริมของมาตรฐานคอร์ทรัสซีลในการจัดการข้อมูลผลงานวิจัยในคลังสารสนเทศ และผลักดันให้มีหน่วยงานต้นแบบที่ให้บริการข้อมูลผลงานวิจัยตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีล และพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูลผลงานวิจัยของหน่วยงานที่มีการจัดการข้อมูลตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีลเพื่อให้มั่นใจในความน่าเชื่อถือของข้อมูลผลการวิจัยในคลังสารสนเทศดิจิทัล ซึ่งมีกระบวนการจัดการข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูลที่ให้บริการ เพื่อสนับสนุนความโปร่งใสของข้อมูล (FAIR Data)ที่มาจากการวิจัยและเพื่อให้บริการการเข้าถึงข้อมูลผลการวิจัยได้ในระยะยาว

ผลการดำเนินงานของโครงการฯ โดยการสนับสนุนของกองมาตรฐานการวิจัยฯ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติทำให้ประเทศไทยมีหน่วยงานต้นแบบที่ดำเนินงานตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีล และได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานคอร์ทรัสซีลแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ คลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คลังปัญญาจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร และคลังข้อมูลดิจิทัล วช.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และการมีเครือข่ายหน่วยงานต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติที่ดีที่สามารถฝึกอบรมให้หน่วยงานอื่นในประเทศไทยที่สนใจพัฒนาคลังสารสนเทศให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลได้ โดยมีการพัฒนาเว็บต้นแบบเครือข่ายไว้ให้หน่วยงานที่สนใจได้ศึกษาแนวทางการดำเนินงานตามกระบวนการจัดเก็บข้อมูลผลการวิจัยตามมาตรฐานสากล และมีหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายจำนวนมากกว่า 20 แห่ง

โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้1)กำหนดให้การพัฒนาคลังสารสนเทศตามมาตรฐานสากลเป็นนโยบายระดับชาติ โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมีคลังสารสนเทศที่ผ่านมาตรฐาน และผู้ได้รับทุนวิจัยจะต้องนำฝากผลงานวิจัยและกำหนดสิทธิ์การเผยแพร่ ผ่านคลังสารสนเทศของหน่วยงานต้นสังกัด หรือคลังสารสนเทศของหน่วยงานผู้ให้ทุน ภายในเวลาที่กำหนด2) ตั้งคณะทำงานส่งเสริมการขอรับรองคุณภาพตามมาตรฐานระดับชาติและมาตรฐานสากล เพื่อขับเคลื่อนให้คลังสารสนเทศมีมาตรฐาน และแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในระดับชาติ 3) ขยายเครือข่ายหน่วยงานต้นแบบที่มีการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศตามมาตรฐาน โดยจัดฝึกอบรมเพื่อชี้แจงข้อกำหนดและเกณฑ์การขอการรับรองตามมาตรฐาน และนำเสนอตัวอย่างการขอการรับรองของหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับเชิญหน่วยงานที่ผ่านการรับรองแล้วมาถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะประเด็นที่หน่วยงานส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนด รวมถึงการศึกษาปัญหา ข้อจำกัด และแนวทางการพัฒนาคลังสารสนเทศของหน่วยงานในประเทศไทย และหน่วยงานต้นแบบทั้ง 4 แห่ง หลังจากรับทราบผลการประเมินตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีล 4) จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีของมาตรฐานระดับชาติในการจัดการคุณภาพข้อมูลของคลังสารสนเทศสำหรับหน่วยงานที่เริ่มต้นดำเนินงานตามองค์ประกอบเพิ่มเสริมพื้นฐาน (CTS superset Basic) และหน่วยงานที่ผ่านการขอการรับรองตามมาตรฐานคอร์ทรัสซีลแล้ว (CTS superset Plus) โดยเทียบเคียงกับมาตรฐานสากลอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขอการรับรองจากต่างประเทศ และขยายโอกาสให้หน่วยงานคลังสารสนเทศที่มีงบประมาณจำกัด สามารถเข้าถึงการรับรองตามมาตรฐาน 5) จัดฝึกอบรมการตรวจประเมินเบื้องต้นตามมาตรฐานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานต้นแบบก่อนที่จะทำการส่งเอกสารเพื่อขอการรับรอง  โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มาเป็นผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น และ 6) เสนอให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าภาพเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาคลังสารสนเทศตามมาตรฐานสากล และเป็นหน่วยจดทะเบียนคลังสารสนเทศดิจิทัลแห่งชาติ (Registry of Thailand Digital Repositories – RTDR) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลให้มีคุณภาพมาตรฐาน และรับจดแจ้งคลังสารสนเทศดิจิทัล เพื่อรวบรวมและจัดทำนามานุกรมคลังสารสนเทศดิจิทัลในประเทศไทย พัฒนาระบบการสืบค้นผ่านจุดเดียว (Repository Finder) เพื่อเป็นคลังสารสนเทศสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย และยังเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานผู้ให้ทุนในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อวางแผนและจัดสรรทุนวิจัยในการพัฒนาประเทศ More information : https://tcts.nrct.go.th/

slot gacor