ทักษะวิทยาการแบบเปิดสำหรับนักวิจัยและนักสารสนเทศ (Open Science Skills for Researchers and Information Professionals)

ความหมายและความสำคัญของทักษะวิทยาการแบบเปิดสำหรับนักวิจัยและนักสารสนเทศ

ทักษะวิทยาการแบบเปิด เป็นทักษะทางสารสนเทศศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อนักวิจัยและนักสารสนเทศ เนื่องจากทักษะวิทยาการแบบเปิดเป็นทักษะการสื่อสารทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัยตั้งแต่เริ่มต้นการทำวิจัย จนถึงการเผยแพร่ผลงานวิจัย คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้นิยามความหมายของวิทยาการแบบเปิด (Open Science) ว่าเป็นวิธีการใหม่ของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นความร่วมมือในการทำงานวิจัยที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลการทำวิจัย เป็นวิธีการใหม่ในการเผยแพร่ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและใช้เทคโนโลยีความร่วมมือแบบใหม่ แนวคิดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่เคยทำในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยยกระดับแนวปฏิบัติของมาตรฐานการตีพิมพ์ผลการวิจัยในสิ่งตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและใช้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของกระบวนการวิจัย วิทยาการแบบเปิดจึงเป็นแนวปฏิบัติของวิทยาการที่ทุกคนสามารถร่วมมือและสนับสนุนให้ข้อมูลวิจัยและบันทึกข้อมูลในห้องปฏิบัติการในระหว่างกระบวนการวิจัยสามารถเผยแพร่ได้ ภายใต้นิยามของการใช้ข้อมูลซ้ำได้ การเผยแพร่ซ้ำ และการผลิตซ้ำของงานวิจัย ทั้งในส่วนของข้อมูลและวิธีการ

หลักการสำคัญของวิทยาการแบบเปิด มีความสำคัญต่อสังคมโดยรวมที่ควรได้รับประโยชน์จากงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ โมเดลนวัตกรรมเปิดควรได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายไม่เพียงแต่นักศึกษาและนักวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงผลงานวิจัยได้ ตามมาตรา 27 ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อชื่นชมศิลปะ และเพื่อแบ่งปันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการใช้ประโยชน์จากผลงานนั้น (United Nations, 1948)

               ความสำคัญของวิทยาการแบบเปิด ได้แก่

               1. ด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการแบบเปิดมีผลต่อความโปร่งใสของการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ การตรวจสอบความถูกต้อง ความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลิตซ้ำได้ กระบวนการวิจัยที่ยั่งยืน ที่มีผลต่อการพัฒนาความรู้ที่มากขึ้น

             2. ด้านธุรกิจเอกชน วิทยาการแบบเปิดช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ เนื่องจากการได้รับประโยชน์มากขึ้นจากข้อมูลที่เผยแพร่และใช้ได้ เชื่อมโยงกับความรู้เดิม       

             3. ด้านสังคม องค์กรทางสังคม องค์กรท้องถิ่นและภูมิภาค ครูอาจารย์ นักวิชาชีพสาธารณสุข พลเมือง บุคคลที่อยู่วงจรทางวิทยาศาสตร์สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาการแบบเปิด เนื่องจากสามารถเข้าถึง และใช้สารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ได้

         ผู้ใช้วิทยาการแบบเปิด หมายถึง ผู้ใช้ทั้งภายในและนอกชุมชนวิทยาศาสตร์ สามารถเข้าถึงและพัฒนางานวิจัยด้วยคำถามและความคิดในการช่วยรวบรวมข้อมูลวิจัย เช่นองค์กรด้านการศึกษา ด้านสารสนเทศสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องการความรู้ทางวิทยาศาสตร์